ทากเปลือย (Nudibranch)
บทความนี้เคยเขียนไว้ เมื่อหลายปีก่อน...
'ตามสัญญาไว้ ว่าจะมาเล่าถึงเจ้าตัวเล็ก ๆ ในทะเล เนื่องจากสมัยเรียน มีโอกาสได้ดูสารคดีเยอะแยะ ถูกใจเจ้าเจ้าทากเปลือยพวกนี้เป็นที่สุด สีจัดจ้าน หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู (เพื่อน ๆ เห็นด้วยมั้ย) เลยขออนุญาตเลือกมาเล่าให้ฟัง
ทากเปลือย (nudibranch) หรือทากทะเล เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง ซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มของหอยที่ไม่มีเปลือกขนาดเล็ก ใน Order Nudibranchia มีมากกว่า 3,000 ชนิด ลักษณะเด่นของทากเปลือย คือ มีสีสันตามลำตัวที่โดดเด่นและสวยงาม คำว่า nudibranch มาจาก 2 ภาษา “nudus”มาจากภาษาลาติน แปลว่า “naked : เปลือย” และ“brankhia” มาจากภาษากรีก แปลว่า “gill : เหงือก”
ทากเปลือยจะมีฟันหรือที่เรียกว่า radula เรียงเป็นแถวใช้ในการขูดอาหาร โดยฟันที่เกิดมาก่อนจะอยู่ปลายสุด และเมื่อถูกใช้งานมาก ฟันจะหลุดไปและมีฟันใหม่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง อาหารของทากเปลือยแต่ละชนิดแตกต่างกัน ส่วนใหญ่เป็นพวกฟองน้ำ ไฮดรอย์ สาหร่ายทะเล ดอกไม้ทะเล ปะการัง หรือบางชนิดกินทากเปลือยด้วยกันเอง
เจ้าทากเปลือยแสนสวยเหล่านี้เป็นกระเทย(hermaphrodite) พวกมันมีสองเพศในหนึ่งตัว แต่อย่างไรก็ตาม มันจะไม่มีการผสมพันธุ์ภายในตัวมันเอง จะการผสมข้ามตัวเสมอ ในการวางไข่ ทากเปลือยจะสร้างปลอกเมือกหุ้มไข่ไว้เพื่อป้องการถูกกินจากศัตรู รูปร่างของพวงไข่ (egg mass) ของทากเปลือย มีลักษณะเป็นทรงกลมหรือคล้ายริบบิ้น และมีสีที่แตกต่างกันในแต่ละชนิด
ทากเปลือยแสนสวย ชนิดต่าง ๆ
เมื่อไข่ถูกผสมและมีการพัฒนาการไปเป็นระยะตัวอ่อน(veliger) ระยะนี้จะดำรงชีพแบบเป็นแพลงก์ตอน (plankton)ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง (metamorphosis) เพื่อลงเกาะ และกลายมาเป็นระยะวัยรุ่น ในการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงรูปร่างจากระยะตัวอ่อนไปเป็นระยะวัยรุ่นนั้น ต้องมีสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม หรือต้องมีสารเคมีมากระตุ้น ซึ่งส่วนใหญ่สารเคมีเหล่านั้นเป็นสารที่อยู่ในอาหารที่ทากเปลือยจะกินต่อไปในระยะวัยรุ่น ทากเปลือยส่วนใหญ่มีอายุสั้นน้อยกว่า 1 ปี แต่มีบางชนิดสามารถอยู่ได้ถึง 6 ปี และบางชนิดที่หลังจากวางไข่ 2-3 ครั้งแล้วก็จะตายทันที
ทากเปลือยเป็นสัตว์ที่มีขนาดที่เล็ก แต่ทากเปลือยก็มีความสำคัญต่อระบบนิเวศเช่นกัน โดย ทากเปลือยสามารถบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศนั้น ๆ ได้ ปัจจุบันทากเปลือยเป็นสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลัง(invertebrate) อีกกลุ่มหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสำคัญ จากการที่ทากเปลือยหลายชนิดสามารถผลิตสารที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพในการต้านเซลล์มะเร็งหลายชนิด ทั้งยังเป็นสัตว์ที่นิยมนำมาใช้ในการศึกษาเกี่ยวกับสรีรวิทยาของสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลัง เนื่องจากความอ่อนนุ่มของลำตัว ซึ่งทำให้สามารถสังเกตอวัยวะภายในได้ง่าย'
อ้างอิงและแรงบันดาลใจจาก
ผศ. ดร. สุชนา ชวนิชย์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ. ดร. สมถวิล จริตควร ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
https://www.l3nr.org/posts/298986
Comment(s)
Vote this Content ?
|
Create by :
Status : ผู้ใช้ทั่วไป สามัญสัมพันธ์ |
http://www.pattayatech.ac.th |